หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 7


การรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment

 

     คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

      1. รับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาตร์ National e-Payment (คณะกรรมการฯ) ซึ่งได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment อย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และได้รับการยอมรับในระดับสากล

     2. เห็นชอบให้ยุติบทบาทของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment เนื่องจากผลสำเร็จการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ตามนัยข้อ 1. เป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลักดันและพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยภายใต้กรอบภารกิจของตนเองให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจร ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการตามแผนการดำเนินการในระยะต่อไป จึงไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการอีกต่อไป

 

สาระสำคัญของเรื่อง

       1. กระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณารับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment (คณะกรรมการฯ) โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบให้ยุติบทบาทของคณะกรรมการฯ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลักดันและพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยภายใต้กรอบภารกิจของตนเองให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างครบวงจรจึงไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนในรูปแบบของคณะกรรมการอีกต่อไป

     2. ผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ National e-Payment สรุปได้ ดังนี้

โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID และการขยายการใช้บัตร

 

ผลสำเร็จ

        - (1) มีระบบพร้อมเพย์ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกประเภทแล้ว จำนวน 47 ล้านราย (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561)

        - (2) การขยายการใช้บัตร โดยการยกเว้นค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) โดยปัจจุบันได้มีการติดตั้งเครื่อง EDC แล้วทั้งสิ้นจำนวน 768,103 เครื่อง

 

การดำเนินการในระยะต่อไป

       - ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนกลยุทธระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2564) ที่จะมุ่งส่งเสริมให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน โดยมีกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่

(1) ด้านโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน

(2) ด้านนวัตกรรมการชำระเงิน

(3) ด้านการเข้าถึงและใช้บริการ

(4) ด้านการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง และ

(5) ด้านข้อมูลการชำระเงิน

โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

ผลสำเร็จ

      - กรมสรรพากรได้ดำเนินการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านพร้อมเพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และมีการจัดทำระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt สำหรับประเด็นด้านกฎระเบียบได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment

 

การดำเนินการในระยะต่อไป

      - กรมสรรพากรจะดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เสียภาษี

 

โครงการ e-Payment ภาครัฐ

ผลสำเร็จ

      - (1) โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม กค. โดยกรมบัญชีกลางได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การจ่ายเงินสวัสดิการสังคมด้วยพร้อมเพย์ (เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ) การจ่ายเงินสวัสดิการแห่งรัฐโดยบัตร (มีผู้มีสิทธิ 14.5 ล้านคน มีการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ 67,759.45 ล้านบาท) และการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม

    - (2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับจ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใช้บริการด้านการจ่ายเงิน การรับเงินและการนำเงินส่งคลังผ่านระบบ KTB Corporate Online พร้อมทั้งติดตั้งเครื่อง EDC แล้ว จำนวน 6,807 หน่วยงาน

การดำเนินการในระยะต่อไป

      - กรมบัญชีกลางจะผลักดันให้เกิดการขยายการใช้บัตรอย่างครบวงจร โดยการเชื่อมโยงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับ Basic Account และ Mobile Payment รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลสวัสดิการที่โอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์เข้ากับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

 

โครงการการให้ความรู้ และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ผลสำเร็จ

     กค. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้และประชาสัมพันธ์โครงการ ต่าง ๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ National e-Payment และจัดทำโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตโดยขอรับเงินรางวัลจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนชำระเงินโดยใช้บัตรเดบิตหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านเครื่อง EDC มากขึ้น โดยได้มีการจ่ายเงินรางวัลไปแล้วทั้งสิ้น 69.9 ล้านบาท ให้กับผู้ได้รับรางวัล จำนวน 8,872 ราย (คงเหลือเงินในส่วนที่ไม่มีผู้มารับรางวัล จำนวน 14,123,000 บาท)

 

การดำเนินการในระยะต่อไป

     กรมสรรพากรและกรมบัญชีกลางจะดำเนินการตามแผนประชาสัมพันธ์โครงการ National e-Payment ประจำปี พ.ศ. 2562 และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป ทั้งนี้ กค. จะขอให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพิจารณาเห็นชอบในการนำเงินของโครงการแจกโชคจากการใช้บัตรเดบิตในส่วนที่ไม่มีผู้มารับรางวัล จำนวน 14,123,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการตามแผนประชาสัมพันธ์ฯ ต่อไป

        ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มีนาคม 2562

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90SIAM790x90

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!