หมวดหมู่: วิเคราะห์-การเมือง

7กนยายน


เปิดโรดแมปใหม่ '6-4-6-4' เลือกตั้งปี′60

        มติชนออนไลน์ : เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 7 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 135 เสียง ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญต้องเริ่มนับหนึ่งกระบวนการยกร่างใหม่ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ภายใน 30 วัน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน แล้วเข้าสู่กระบวนการลงประชามติ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่า 
      ขณะนี้ ยังไม่ทราบเพราะเรื่องดังกล่าว คสช.จะพิจารณาแต่งตั้ง เข้าใจว่าคงยังไม่ได้มีการเตรียมการ เพราะยังมีเวลาอีก 30 วัน บุคคลที่จะเข้ามาไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ ส่วนจะมีการทาบทามบุคคลใน กมธ.ยกร่างฯชุดเดิมหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่างฯชุดใหม่ว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญเดิมมาแก้ไขหรือไม่ คงจะมีการประชุมกำหนดแนวทางว่าจะใช้วิธีใดเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว 
      "ปล่อยให้เขาเป็นคนพูดก่อนดีกว่า ถ้าเราพูดตอนนี้เหมือนจะเป็นใบสั่งอีก แต่วันนี้เสียงบางพวกที่ออกมาต้องการให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ หรือบางพวกบอกให้นำปี 2550 มาใช้ หรือแม้แต่เสนอให้นำร่างล่าสุดที่มีทั้งข้อดีข้อเสียมาแก้ไข สามารถเสนอได้" นายวิษณุกล่าว

ใช้เวลาร่างรธน.ใหม่จนถึงเลือกตั้ง
      "ผมยังไม่เห็น คสช.เรียกประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวยังถือว่าเร็วไป สปช.เพิ่งโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน จากวันนี้ไปอาจจะมีการขยับ ผมเข้าใจว่าน่าจะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางโดยจะสรุปและชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบอีกครั้งว่าโรดแมปย่อยๆ หลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจะได้ขมวดให้ทราบในเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน หรือการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไม่เกิน 200 คน หรือการบริหารเวลาที่มีต่อจากนี้" นายวิษณุกล่าว
     นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ทุกอย่างจะใช้สูตร 6-4-6-4 คือ ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน จากนั้นเตรียมการทำประชามติ 4 เดือน ถ้าผ่านประชามติจะมีการทำกฎหมายลูกและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ใช้เวลา 6 เดือน กระทั่งใช้เวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีก 4 เดือน รวมแล้วระยะเวลาหลังจากนี้ 20 เดือน ของอย่างนี้มันจัดการให้สั้นลงได้ แต่ต้องพูดให้มันยาวไว้ก่อน อย่างที่พูดไว้ว่าขั้นตอนที่ใช้เวลา 6 เดือน จริงๆ อาจจะใช้เวลาสั้นกว่านั้นได้ ยกเว้นบางเรื่องที่ไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ เช่นการหาเสียงเลือกตั้ง

ตั้งกก.ยกร่างฯ-ใช้สเปกง่ายๆ
     ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่จะหาคนมาทำยากหรือไม่นายวิษณุกล่าวว่า"ยาก แต่ต้องหาจนได้ สเปกง่ายๆ แค่ร่างรัฐธรรมนูญเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย อย่างใน กมธ.ยกร่างฯชุดเดิม 36 คน มีนักกฎหมายเพียง 2-3 คน นอกนั้นไม่ใช่ แต่ผมว่าเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้ เข้าใจว่าคนที่เป็นแมวมองคงมองใครเอาไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึงขนาดทาบทาม ดีไม่ดีอาจมองไว้เกิน 21 คนด้วยซ้ำไป แต่พอถึงเวลา คสช.ทั้งคณะต้องเอารายชื่อคนเหล่านี้มาพูดคุยกันอีกครั้งว่ามีท่าทีไปอย่างไร จะว่างหรือไม่ ที่ผ่านมาเคยมีปัญหาเรื่องการคัดคนเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผมเคยเจอปัญหามาแล้ว"
      นายวิษณุ กล่าวว่า "คนที่เหมาะสมน่าจะเอามาเป็นมาก แต่ดันติดขัดเพราะทำหน้าที่อะไรบางอย่างอยู่ หากเขามาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องลาออกจากตำแหน่งนั้นๆ ไม่เอาดีกว่า เหมือนหาคนมาเป็นรัฐมนตรีที่สื่อก็คิดและทราบว่าคนนี้น่าจะเข้ามาเป็น แต่อาจติดภารกิจอะไรบางอย่างอยู่ แล้วไม่อาจจะเสียสละตำแหน่งนั้นมาได้ มีภาระที่ผูกมัดกันอยู่ ดีไม่ดีอาจทำให้ประเทศเสียหายในทางอื่นหากลาออก การหากรรมการร่างธรรมนูญอาจจะเสียหายในลักษณะเดียวกัน แต่ในที่สุดต้องหาจนได้ภายในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ แต่จะภายในสัปดาห์นี้หรือไม่นั้นผมไม่ทราบ หรือใครจะมาเป็นประธานยังไม่ทราบ และไม่มีชื่อใครในใจเลยเพราะไม่มีหน้าที่เรื่องนี้ ขณะนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเลือกเพราะยังเร็วไป"

ไม่จำเป็นต้องตั้งยกร่างฯถึง 21 คน
      เมื่อถามว่า คนเป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นหัวหน้า คสช.เลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ถ้าจริงมันก็ดีน่ะสิ แต่มันเป็นไปไม่ได้ จะได้รู้แล้วรู้รอด หมดเรื่องหมดราวกันไปเลย แต่มันไม่จริง เพราะผมไปเป็นยังไม่ได้เลยเพราะเขาห้ามรัฐมนตรีไปเป็น"
      นายวิษณุ กล่าวว่า ความจริงไม่ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถึง 21 คน ข้อกฎหมายระบุว่าประธาน 1 คน กรรมการไม่เกิน 20 คน เพราะฉะนั้นอาจไม่ถึง 20 คน ส่วนคุณสมบัติทั้ง 21 คนคือต้องมีความรู้ความสามารถในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ หรือคนที่เข้าใจเรื่องการเมือง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย หรือที่สำคัญต้องเข้าใจสภาพบ้านเมืองไทยแบบทุกมิติ ทั้งมิติความมั่นคง มิติเสรีภาพ มิติการเมือง มิติภาคประชาชน อย่างไรก็ตามคงไม่อาจเอาคนที่มีแนวคิดตรงกันข้าม แต่ประเภทที่ต้องมีแนวคิดเดียวกันคงหายากเพราะสุดท้ายไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร
     เมื่อถามว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญในอดีตไม่เห็นจะมีความวุ่นวายหรือมีคณะกรรมการต่างๆ ตั้งขึ้นตามมาเลย นายวิษณุกล่าวว่า อันที่จริงก็ไม่เคยวุ่นวาย ครั้งที่แล้วก็ไม่ได้วุ่นวาย ส่วนที่มีการระบุว่าให้มีการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้น มันทำงานขับเคลื่อนของมันไป คนละเส้นทางกันเพราะสภาขับเคลื่อนฯทำเฉพาะเรื่องปฏิรูป สานต่อจากแผนแม่บทของ สปช.ทั้ง 37 ด้าน สภาขับเคลื่อนฯเลี้ยวซ้ายเข้าซอยทำเรื่องปฏิรูป อย่าออกมายุ่งเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการร่างฯ ก้มหน้าก้มตาร่างของเขาไป เป็นแนวทางมาตั้งแต่ปี 2475 ไม่ได้มีปัญหาอะไร

โจทย์ใหม่หาอะไรแทนคปป.
     นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ถูกบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญเดิม และมีหลายฝ่ายไม่พอใจนั้น จะกลับเข้ามาอยู่ในร่างฉบับใหม่หรือไม่นั้นไม่ทราบ เรื่องแบบนี้คนที่เป็นกรรมการร่างฯคงจะต้องใส่ใจแล้วนำมาคิดดู ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าถ้าไม่เอา คปป.แล้ว ปัญหาที่ยังอยู่ซึ่งเริ่มต้นมาจาก กมธ.ยกร่างฯชุดเดิมได้หยิบยกปัญหากรณีที่บ้านเมืองจะเกิดปัญหา แล้วจะมีมาตรการใดมารองรับ บัดนี้เมื่อมาตรการดังกล่าวปรากฏว่าคนไม่ยอมรับ จึงเป็นปัญหาต่อว่าปัญหาที่กลัวว่าจะเกิดขึ้นนั้นยังกลัวกันอยู่หรือไม่ ถ้าไม่กลัวไม่ต้องมีมาตรการ แต่ถ้ากลัวต้องคิดมาตรการอื่น ถือเป็นเรื่องธรรมดา สุดแต่สติปัญญาของกรรมการร่างฯ
     นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 โดยเฉพาะมาตรา 44 จะหมดไป และเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่มีมาตราอะไรให้ กมธ.ยกร่างฯชุดเดิม จึงคิดให้มี คปป.ขึ้นมาแทนมาตรา 44 แม้แต่คำสั่ง คสช.ที่อาศัยมาตรา 44 อาจจะหมดไปด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นต้องมีอะไรมารองรับต่อ ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการมองว่าสืบทอดอำนาจนั้น ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกัน จะไปโยนให้กรรมการร่างฯชุดใหม่ไม่ได้ แต่กรรมการร่างฯชุดใหม่ต้องเป็นพระเอกที่จะนำให้เห็นว่าไม่ได้สร้างกลไกสำหรับการสืบทอดอำนาจ

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!