3R-ING Model 'ไม่เผาพืชทางการเกษตร และไม่รับซื้อ ไม่นำเข้า สินค้าเกษตรที่ผ่านการเผา' บนเวที ASEAN-CRN'
กระทรวงเกษตรฯ ขับเคลื่อนนโยบาย 3R และ ING Model ประกาศไทยชูความเป็นผู้นำ 'ไม่เผาพืชทางการเกษตร และไม่รับซื้อ ไม่นำเข้า สินค้าเกษตรที่ผ่านการเผา' บนเวที ASEAN-CRN'เฉลิมฉลองทศวรรษแห่งความร่วมมือระดับภูมิภาค เพื่ออนาคตเกษตรกรรมยั่งยืน'
นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “การเฉลิมฉลองทศวรรษแห่งความร่วมมือ ในระดับภูมิภาคเพื่ออนาคตเกษตรกรรมที่ยั่งยืน” และงาน 10th Anniversary of ASEAN Climate Resilience Network (ASEAN-CRN)
โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภูผา ลิกค์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประธานเครือข่าย ASEAN-CRN นายพงศ์ไท ไทโยธิน รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วม ณ โรงแรมเชียงใหม่ แมริออท อ.เมือง จ.เชียงใหม่
โดยในช่วงเช้า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุมผ่านวิดีทัศน์ ว่า ประเทศไทยโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญต่อการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร ได้มีนโยบาย 3R คือ Re-Habit
การเปลี่ยนนิสัยหรือพฤติกรรมเกษตรกรในการทำการเกษตรจากแบบเดิมที่มีการเผาเป็นแบบไม่เผา Replace with High Value Crops ปรับเปลี่ยนโดยการปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น ไม้ผล หรือพืชยืนต้น ทดแทนพืชระยะสั้นที่มีการเผา และ Replace with Alternate Crops ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปรังเป็นพืชสร้างรายได้อื่น
อีกทั้ง ได้ยกระดับการดำเนินงานเป็น ING Model คือ ต้นแบบการผลิตพืชคาร์บอนต่ำ ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิต การใช้นวัตกรรมในการผลิต เพื่อให้ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตร
ขณะเดียวกัน การประชุมครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียน และพันธมิตรทุกภาคส่วน ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันของกลุ่มทำงานด้านงานวิจัย และพัฒนาการเกษตรของอาเซียน (ATWGARD) ต่อไปยังการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM-AMAF Leader) และรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (AMAF Leader) ต่อไป
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยจะเป็นผู้นำในการผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรทุกภาคส่วนร่วมมือกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการหลีกเลี่ยงการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากกระบวนการเผา โดยหวังว่ารัฐมนตรีของอาเซียนจะสามารถร่วมกันประกาศความร่วมมือนี้ในการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งต่อไปได้
รมช.อิทธิ ยังได้กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยจะเป็นผู้นำขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในการ ‘ไม่เผาพืชทางการเกษตร และไม่รับซื้อ ไม่นำเข้า สินค้าเกษตรที่ผ่านการเผา’ โดยขานรับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตรที่มีการเผา ที่ได้กำหนดมาตรการ 'งดรับซื้อพืชจากการเผา' ตรวจสอบการลักลอบการนำเข้าพืชที่ผ่านการเผาทุกชนิดอย่างเด็ดขาด เพื่อลดปริมาณฝุ่นฯ ให้ได้มากกว่าปีที่ผ่านมา ผ่านประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร
เพื่อกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรที่จะเข้าร่วมในทุกโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องไม่มีประวัติการเผาในพื้นที่การเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2570 และหวังว่าการดำเนินการของประเทศไทยจะสามารถเป็นต้นแบบในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชากร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะประธานเครือข่าย ASEAN-CRN กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการร่วมมือในระดับภูมิภาคกับสมาชิกเครือข่าย ยังได้มีการขับเคลื่อนต้นแบบในระดับประเทศในด้านที่เกี่ยวกับการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศของไทย อาทิ การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการปรับปรุงพันธุ์ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีการผลิตที่รองรับสภาวะอากาศวิกฤติ หรือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่
ระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือการพัฒนาพันธุ์ด้วย GEds และได้ขยายผลเทคโนโลยีงานวิจัยเกี่ยวกับชีวภัณฑ์ และปุ๋ยชีวภาพ ในนาข้าวเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ รวมถึงลดการเผา ได้ก่อตั้งกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร ที่ดำเนินการในเรื่องการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดในภาคการเกษตรโดยเฉพาะจากปล่อยก๊าซเรือนกระจก
พร้อมทั้งเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตภายใต้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมเป็น (Validation and Verification Body) VVB แล้วจำนวน 31 ราย รวมถึงจัดทำ platform เพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ ตามกรอบโครงการ T-VER ของ อบก.
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนของไทย จะขยายผลจากพื้นที่นำร่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น และผลักดันให้มีผลครอบคลุมในระดับภูมิภาค เช่น การลดการเผาตามมาตรฐานการผลิตพืช หรือ GAP Zero burning ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับมาตรการกำหนดการนำเข้าผลผลิตจากประเทศคู่ค้าต่างๆ เป็นต้น