พิชัย สั่งประชุมอนุกรรมการตลาดข้าวด่วน พิจารณามาตรการดันราคาข้าวเปลือกเจ้า
พิชัย สั่งการกรมการค้าภายในนัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาดด่วน วันที่ 20 ก.พ.นี้ พิจารณามาตรการผลักดันราคาข้าวเปลือกให้ชาวนา ก่อนชง นบข.ไฟเขียว พร้อมให้ดำเนินมาตรการคู่ขนาน เปิดตลาดนัดข้าวเปลือกในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ดีเดย์ จ.พระนครศรีอยุธยา 16-20 ก.พ.นี้ หวังช่วยดันราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเร่งจัดประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ซึ่งตนเองเป็นประธาน มีหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน เป็นกรรมการ
เพื่อร่วมกันพิจารณามาตรการช่วยเหลือข้าวนาปรัง ที่ได้รับผลกระทบด้านราคา ในวันที่ 20 ก.พ.2568 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติการดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่อไป
สำหรับ สาเหตุที่ราคาข้าวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่อินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวในตลาดโลก หลังจากที่เคยห้ามส่งออกก่อนหน้านี้ ประกอบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ลดการนำเข้าข้าว ทำให้การส่งออก่ข้าวไทยได้รับผลกระทบ
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการดูแลเกษตรกร ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในดำเนินมาตรการคู่ขนานในทันที ด้วยการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกปีการผลิต 2567/68 โดยตั้งแต่เดือน ก.พ.-เม.ย.2568 มีแผนที่จะจัดตลาดนัดข้าวเปลือกอีก 14 ครั้ง เพื่อดึงราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้น ในพื้นที่เป้าหมาย 8 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สุรินทร์ สิงห์บุรี พิษณุโลก สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา อุบลราชธานี และนครราชสีมา ตั้งเป้าดันราคาขายข้าวของเกษตรกรให้ปรับเพิ่มขึ้น 100-200 บาท/ตัน โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มจัดตลาดนัดครั้งที่ 1 ในวันที่ 16-20 ก.พ.2568
“การจัดตลาดนัดข้าวเปลือก จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขัน ช่วยให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เป็นการเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร และสร้างอำนาจต่อรองในการกระจายข้าวเปลือกมากขึ้น โดยได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและสำนักงานพาณิชย์จังหวัด
เร่งดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งข้าวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด รวมทั้งให้ประสานชาวนาในแต่ละพื้นที่ เพื่อร่วมกันวางแผนกำหนดจุดจัดตลาดนัดข้าวเปลือกให้ตรงกับปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดแล้ว”นายพิชัยกล่าว
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า เห็นใจและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก ที่ต้องประสบกับปัญหาเรื่องราคาข้าวเปลือกเจ้าตกต่ำ แต่ไม่สบายใจและไม่เห็นด้วยที่พี่น้องเกษตรกรออกมาประท้วงโดยการปิดถนน
เพื่อกดดันภาครัฐ เพราะจะทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ส่วนรวม ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง โดยสมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐถึงความเดือดร้อน และได้มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้มีการเร่งหาวิธีแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนแล้ว
สำหรับ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผา ที่ภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการแปลงนาเพิ่มขึ้นไร่ละประมาณ 500 บาท ได้เสนอภาครัฐช่วยเหลือเช่นเดียวกัน เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แจ้งว่าจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านตลาด เพื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 20 ก.พ.2568 นี้ รวมถึงการมีมาตรการจัดตลาดนัดข้าวเปลือกในจังหวัดที่มีปัญหา
สถานการณ์ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปีการผลิต 2567/68 คาดว่า จะมีปริมาณ 6.53 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.08 ล้านตันข้าวเปลือก หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มีปริมาณอยู่ที่ 5.45 ล้านตัน โดยผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ตั้งแต่เดือน ก.พ.2568 และจะออกกระจุกตัวช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2568 ประมาณ 68% หรือ 4.42 ล้านตัน
โดยราคาข้าวเปลือกเจ้า ณ วันที่ 14 ก.พ.2568 อยู่ที่ 8,300–9,000 บาท/ตัน (เฉลี่ยอยู่ที่ 8,650 บาท/ตัน ปรับลดลงเทียบกับ ปีก่อนที่ 12,500 บ/ตัน หรือลดลง 30%) แต่ก็เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาในปี 2565 ช่วงก่อนที่อินเดียจะห้ามส่งออกข้าวขาว ส่วนราคาข้าวชนิดอื่นๆ ยังคงทรงตัว
โดยข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ย 16,000 บาท/ตัน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 14,850 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 8% ข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ย13,250 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 13,300 บาท/ตัน ลดลง 0.4% ข้าวเปลือกปทุมธานี เฉลี่ย 12,100 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก14,400 บาท/ตัน ลดลง 16% และข้าวเปลือกเจ้า เฉลี่ย 8,700 บาท/ตัน ปรับลดลงจาก 12,500 บาท/ตัน ลดลง 30%