ร่างกฎกระทรวงการต่างประเทศ ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการต่างประเทศ ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..... ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดให้เจ้าพนักงานทูตหรือกงสุลในฐานะนายทะเบียนรับคำร้องขอจดทะเบียนในต่างประเทศ ณ ที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลตามแบบคำร้องที่กำหนด รวมคำร้อง 5 ฉบับ ได้แก่ (1) คำร้องขอจดทะเบียนสมรส (2) คำร้องขอจดทะเบียนการหย่า (3) คำร้องขอจดทะเบียนการรับรองบุตร (4) คำร้องขอจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม (5) คำร้องขอจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรม
1.2 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการขอรับรองสำเนาทะเบียนฉบับละ 2 บาท และกำหนดอัตราค่าธรรมเพื่อขอทราบข้อความใดๆ จากสำนักทะเบียนค่าธรรมเนียมรายละ 4 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน
2. ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 24 กันยายน 2567 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 22 มกราคม 2568 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อรองรับให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถหมั้นและสมรสกันได้ มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายหญิง ประกอบกับมาตรา 68 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายดำเนินการทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบให้รองรับสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้แก่คู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับเพศสภาพของคู่สมรสด้วย
3. ด้วยเหตุผลตามข้อ 2 จะมีผลให้นายทะเบียนผู้มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนในต่างประเทศตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 และกฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 จะต้องเริ่มรับจดทะเบียนให้สอดคล้องกับวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ แต่โดยที่แบบคำร้องขอจดทะเบียนแนบท้ายกฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ไม่รองรับการจดทะเบียนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (ยังปรากฏคำว่า “ชาย” “หญิง” ในแบบคำร้องขอจดทะเบียนท้ายกฎกระทรวงฯ) ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของ กต. ภายใต้พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน และสอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงการต่างประเทศ ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการต่างประเทศออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพุทธศักราช 2478 โดยปรับปรุงแบบคำร้องขอจดทะเบียน (จากเดิมคำร้อง 5 ฉบับ เป็นคำร้อง 1 ฉบับ ใช้ถ้อยคำในแบบคำร้องเป็นไม่ระบุเพศ) เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ปรับปรุงวิธีการจดทะเบียนของนายทะเบียนประจำสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยในต่างประเทศและปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการขอคัดสำเนาทะเบียนให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
3.1 กำหนดเพิ่มเติมให้ส่วนราชการของ กต. ที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่น ซึ่ง กต. มอบหมาย เป็นสำนักทะเบียน เช่น สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปฏิบัติงานจริง
(เดิม กำหนดให้ที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลสยามเป็นสำนักทะเบียนเท่านั้น)
3.2 ปรับปรุงแบบคำร้องขอจดทะเบียน (การสมรส การหย่า การรับรองบุตร การรับบุตรบุญธรรม และการเลิกการรับบุตรบุญธรรม) (จาก คำร้อง 5 ฉบับ) รวมเป็นคำร้องขอจดทะเบียนเพียงฉบับเดียว และปรับปรุงถ้อยคำในแบบคำร้องเป็นไม่ระบุเพศเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567
3.3 กำหนดให้นายทะเบียนส่งข้อมูลการจดทะเบียนและการบันทึกข้อมูลให้สำนักทะเบียนกลางผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลการทะเบียน หรือในกรณีที่ไม่สามารถส่งข้อมูลการจดทะเบียนและการบันทึกข้อมูลผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ ให้นายทะเบียนคัดสำเนาซึ่งได้รับรองถูกต้องแล้ว และส่งไปยัง กต. เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย
3.4 กำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ดังนี้
3.4.1 การขอคัดสำเนาทะเบียนและมีการรับรองสำเนาทะเบียน ฉบับละ 300 บาท (เดิม ฉบับละ 2 บาท) ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน
3.4.2 การขอทราบข้อมูลจากทะเบียนของสำนักทะเบียนกลาง รายละ 300 บาท (เดิม รายละ 4 บาท) ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 13 มกราคม 2568
1231