พาณิชย์ เกาะติด 1 เดือน 'ทรัมป์ 2.0' ขึ้นภาษีแหลก จับตาก๊อกสองช่วง เม.ย.นี้
พาณิชย์ เกาะติด 1 เดือน นโยบาย 'ทรัมป์ 2.0' พบออกคำสั่งเพียบ ทั้งถอนตัวข้อตกลงปารีส ขึ้นภาษี 10% สินค้านำเข้าจากจีน เก็บภาษี 25% สินค้าแคนาดาและเม็กซิโก แต่เลื่อนบังคับใช้ 4 มี.ค.68 ปรับขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียม 25% ชี้ไทยได้รับผลกระทบแน่ แต่น้อยกว่าประเทศในทวีปอเมริกา แนะจับตาการใช้ภาษีแบบตอบโต้ ที่จะออกมาช่วง เม.ย.68 และการปรับมาตรการทางการค้า เพื่อเตรียมพร้อม และเตรียมมาตรการรับมือ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์การดำเนินนโยบายทรัมป์ 2.0 ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง
พบว่า ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทรัมป์ได้เดินหน้านโยบายและมาตรการตามที่ได้หาเสียงไว้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการด้านการค้าระหว่างประเทศ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ตลอดจนมาตรการจัดระเบียบผู้อพยพ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยและโลก
ทั้งนี้ ได้มีการออกคำสั่งฝ่ายบริหาร หรือ Executive Order ฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ อาทิ การถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และหันมาส่งเสริมการขุดเจาะน้ำมัน การทำเหมือง และการพัฒนาก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ เพื่อช่วยลดราคาพลังงาน และบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ แต่การถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นที่จับตามองว่า อาจเป็นโอกาสให้จีนก้าวมาเป็นผู้นำในตลาดพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ และยานยนต์ไฟฟ้า
การปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 10% กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากจีน มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.2568 ขณะที่จีนได้ตอบโต้มาตรการภาษีดังกล่าวด้วยการปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 15% กับสินค้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ และอีก 10% กับสินค้าน้ำมันดิบ อุปกรณ์ทางการเกษตร และรถยนต์นั่งและรถบรรทุก รวมทั้งออกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายาก (critical minerals) ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง พลังงานสะอาด และการป้องกันประเทศ
การเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% กับสินค้านำเข้าทั่วไปจากแคนาดาและเม็กซิโก ยกเว้นสินค้ากลุ่มพลังงานของแคนาดาที่เก็บในอัตรา 10% ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันที่ 4 ก.พ.2568 แต่ต่อมาได้มีการเลื่อนวันบังคับใช้ออกไปเป็นวันที่ 4 มี.ค.2568 โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า ทั้งสองประเทศได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาปัญหาผู้อพยพผิดกฎหมาย และการลักลอบนำเข้ายาเสพติด และหากถึงเวลาที่คำสั่งมีผลใช้บังคับ แต่ทั้งสองประเทศไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการเก็บภาษีนำเข้าตามที่ได้ระบุไว้
การปรับขึ้นภาษีกับสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมนำเข้าจากทุกประเทศ สู่อัตรา 25% มีผลใช้บังคับวันที่ 12 มี.ค.2568 อาศัยอำนาจตามมาตรา 232 ของ The Trade Expansion Act 1962 เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมภายในประเทศ ถือว่า มีผลกระทบต่อคู่ค้าหลายประเทศ ซึ่งเดิมสหรัฐฯ เก็บภาษีกับสินค้านำเข้าดังกล่าวในอัตราที่ต่ำ โดยรวมไม่เกินอัตรา 10% แต่กำลังจะเพิ่มภาษีขึ้นไปกว่า 2 เท่าตัว ย่อมสร้างผลกระทบด้านต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“จากการวิเคราะห์มาตรการดังกล่าว พบว่า มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีการส่งออกสินค้าในรายการที่จะถูกใช้มาตรการทางภาษีประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 16.8% ของมูลค่าส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม รองจากจีน ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออกสินค้าในรายการที่จะถูกใช้มาตรการทางภาษีประมาณเกือบ 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 72.8% ของมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมไปยังสหรัฐฯ แต่หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากสหรัฐฯ มุ่งเป้าไปยังประเทศข้างเคียงในทวีปอเมริกา ซึ่งมีตลาดส่งออกสินค้าดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ที่ตลาดสหรัฐฯ เกินกว่า 50% ของมูลค่าส่งออกสินค้านั้นๆ”นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากมาตรการข้างต้น ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ไทยต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเตรียมใช้ภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) คาดว่า อาจนำมาใช้ในช่วงเดือน เม.ย.2568 หลังจากที่หน่วยงานต่างๆ จะส่งผลการทบทวนและการตรวจสอบการดำเนินนโยบายการค้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลกไปยังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการเตรียมผลักดันเสนอร่างกฎหมายการค้าต่างตอบแทนต่อสภาคองเกรสในอนาคต