ผู้ส่งออก 7 สินค้า ได้เวลาปรับตัวเพิ่ม อียูเลื่อนใช้มาตรการสินค้าปลอดตัดไม้ทำลายป่า 1 ปี
กรมการค้าต่างประเทศแจ้งข่าวดี ผู้ส่งออก 7 สินค้า วัว ไม้ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ และยางพารา หลังรัฐสภายุโรปเลื่อนการบังคับใช้มาตรการสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ออกไป 12 เดือน ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก คาดช่วยให้มีระยะเวลาปรับตัว มีความพร้อมในการปฏิบัติตามเงื่อนไข และไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐสภายุโรปมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อบังคับใช้มาตรการสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Products Regulation : EUDR) ของสหภาพยุโรป (อียู) ออกไปอีก 12 เดือน
โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ จากเดิมมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2567 เปลี่ยนเป็นมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2568 เป็นต้นไป และผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย จากเดิมมีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2568 เปลี่ยนเป็น มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.2569 เป็นต้นไป
สำหรับ มาตรการ EUDR ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงรับมือการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าทั่วโลก ทั้งที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมายและจากการขยายตัวทางการเกษตร ซึ่งครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 7 รายการ ได้แก่ วัว ไม้ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ และยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าดังกล่าว
ทั้งนี้ ล่าสุดอียูอยู่ระหว่างการประกาศข้อกำหนดเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม EUDR ในส่วนของการขยายระยะเวลาบังคับใช้ในรัฐกิจจานุเบกษา (Official Journal) และดำเนินการปรับปรุงคู่มือการบังคับใช้ข้อกำหนด EUDR รวมถึงข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการปฏิบัติตามพันธกรณีของข้อกำหนด EUDR เพื่อให้มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“การขยายระยะเวลาบังคับใช้ดังกล่าว จะเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทย ทั้งรายใหญ่และรายย่อยสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการจัดทำรายงานตรวจสอบย้อนกลับตามเงื่อนไขของอียูได้อย่างถูกต้อง ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้า”นางอารดากล่าว
มาตรการ EUDR เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures : NTMs) ที่อียูกำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (European Green Deal) เพื่อให้อียูสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย 1.เป็นสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า 2.เป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และ 3.เป็นสินค้าที่ผู้ผลิตและส่งออกมีการจัดทำ Due Diligence Statement